คำวิจารณ์และความนิยม ของ บางระจัน (ภาพยนตร์)

บางระจัน สร้างขึ้นมาจากเรื่องราวของวีรชนบ้านบางระจันแห่งจังหวัดสิงห์บุรี ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ที่กล่าวกันว่าเป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านธรรมดา ๆ ต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังเหนือกว่าได้ถึง 5 เดือน จนตัวตาย เรื่องราวของวีรกรรมส่วนนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง และประพันธ์เป็น เพลงปลุกใจ ที่รู้กันกันดี เช่น ศึกบางระจัน ของ ขุนวิจิตรมาตรา

บางระจันฉบับภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัดคำว่า "ศึก" ออกไป เหลือแต่ "บางระจัน" อย่างเดียวเพื่อเน้นถึงความเป็นสถานที่ อีกทั้งชื่อของชาวบ้านที่เคยรับรู้ว่าขึ้นต้นด้วยคำว่า "นาย" กลายเป็น "อ้าย" หรือ "อี" เพื่อความสมจริงสำหรับการใช้ภาษาให้คล้องจองกับยุคสมัยนั้น

เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉาย กลายเป็นภาพยนตร์ยอดนิยมภายในเวลาไม่นาน ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า คงเป็นด้วยการที่เป็นวีรกรรมของบุคคลระดับชาวบ้านจึงง่ายต่อการเข้าใจและในช่วงเวลานั้นใกล้จะถึงการเลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งใหม่ครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการกล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมร่างมากที่สุดในขณะนั้น [2] ทำให้ภาพยนตร์ได้รายได้มหาศาลถึง 150.4 ล้านบาท จนต้องมีการตัดต่อใหม่ ใส่คำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษสำหรับคนต่างชาติ เพื่อนำไปฉายต่อในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ

เป็นภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้ธนิตย์ได้กำกับภาพยนตร์ในลักษณะนี้ตามมาอีกหลายเรื่อง ซึ่งก็มีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตการแสดงของ บงกช คงมาลัย ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้ให้กับ วินัย ไกรบุตร นักแสดงชายจนได้รับฉายาว่า "พระเอกร้อยล้าน" หลังจากนางนาก ในปี พ.ศ. 2542 และเมื่อนำออกฉายต่างประเทศ เป็นที่ชื่นชอบของ โอลิเวอร์ สโตน ผู้กำกับของฮอลลีวู้ด และได้ติดต่อ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่รับบทอ้ายทองเหม็น มารับบทเป็นพระราชาอินเดีย ในภาพยนตร์กำกับของตัวเอง คือ Alexander เมื่อยกกองถ่ายมาที่เมืองไทยอีกด้วย